มาตรฐาน Euro5 คืออะไร หลังไทยเริ่มบังคับใช้แล้ว ทางเลือกลดฝุ่น PM 2.5
จากปัญหามลพิษทางอากาศที่ยังคงวิกฤติ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน ทำให้หลายภาคส่วนพยายามหาทางแก้ไข ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการนำ “มาตรฐาน EURO 5” มาใช้ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดยจะบังคับใช้ 2 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ รถยนต์และน้ำมัน หลังจากไทยใช้มาตรฐาน EURO 4 มาตั้งแต่ปี 2555 แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ ว่ามาตราฐาน EURO 5 คืออะไร และจะมีผลกระทบต่อผู้ใช้รถยนต์อย่างไรบ้าง วันนี้เราจึงจะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับมาตรฐานนี้ให้ดียิ่งขึ้น
มาตรฐาน EURO5 คืออะไร?
มาตรฐานยูโร 5 เป็นกฎระเบียบสำหรับควบคุมการปล่อยมลพิษไอเสียของยานพาหนะ เพื่อช่วยป้องกันและแก้ไข ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ให้มลพิษเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งถูกกำหนดโดยสหภาพในยุโรป ซึ่งได้มีการกำหนดเกณฑ์ ตั้งแต่ EURO 1, EURO 2, EURO 3, EURO 4, EURO 5, EURO 6 ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกทำการพัฒนาเครื่องยนต์ ให้ปล่อยมลพิษออกมาน้อยที่สุดนั่นเอง
สำหรับเกณฑ์การปรับมาตรฐานไอเสียรถยนต์ให้สะอาดขึ้น ตามมาตรฐาน EURO จะระบุปริมาณมลพิษ 4 ตัว ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ไฮโดรคาร์บอน (HC) และสารมลพิษอนุภาค (PM) โดยจะมีการวัดเป็นหน่วยกรัม/กิโลเมตร ตามวัฏจักรขับขี่ในห้องปฏิบัติการทดสอบ
โดยตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน สำหรับรถยนต์ดีเซล ที่เข้ามาตราฐาน EURO 5 จะต้องมีการติดตั้งตัวกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ Diesel Particulate Filter (DPF) ลักษณะคล้ายรังผึ้ง มีหน้าที่ดักจับ อนุภาคเขม่าขนาดเล็กที่อยู่ในไอเสียของรถยนต์ดีเซล ก่อนที่จะถูกปล่อยออกไป เพื่อควบคุมปริมาณเขม่าไอเสียให้ลดน้อยลง และลดการปล่อยมลพิษ รวมถึงฝุ่น PM 2.5 ให้ได้มากที่สุด
ในส่วนของการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อยกระดับมาเป็นมาตรฐานยูโร 5 จะช่วยลดการปล่อยกำมะถันลง จาก 100 PPM ให้เหลือ 10 PPM ช่วยทำให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ หรือ PM 2.5 ลดลงอย่างมาก และในดีเซลจะลดปล่อยค่าสารโพลีไซคลิก (Polycyclic) อะโรมาติก (Aromatic) ไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) จาก 11% ให้เหลือ 8% ซึ่งจะช่วยลดการระบายก๊าซไฮโดรคาร์บอน และออกไซด์ของไนโตรเจน
มาตรฐาน EURO 5 จะส่งผลต่อต้นทุนรถยนต์หรือไม่?
เนื่องจากจุดประสงค์ที่ต้องการลดมลพิษ และเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยฝุ่นละอองจากเครื่องยนต์ดีเซล ทำให้รถยนต์ดีเซลทุกคันจะต้องติดตั้งตัวกรองฝุ่นละออง ทำให้ต้นทุนการผลิตรถสูงขึ้น โดยจากรายงานของกระทรวงพลังงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ระบุว่าสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลยูโร 5 ราคารถยนต์จะแพงขึ้น ประมาณคันละ 25,000 บาท
การเปลี่ยนมาเป็นมาตรฐาน EURO 5 จะกระทบกับคนใช้รถยนต์ปัจจุบันหรือไม่?
สำหรับคนที่ใช้รถมาตรฐานเดิม ไม่ต้องกังวลไป เพราะมาตราฐานยูโร 5 นี้ จะบังคับใช้เฉพาะรถยนต์รุ่นใหม่เท่านั้น แต่หากในอนาคตต้องการจะซื้อรถยนต์คันใหม่ ก็อาจจะต้องซื้อในราคาที่แพงขึ้น เนื่องจากได้มีการปรับเกณฑ์มาตรฐาน ให้เป็น EURO 5 แล้วนั่นเอง ในขณะที่น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ก็สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ โดยไม่เกิดปัญหาต่อเครื่องยนต์แต่อย่างใด
เกณฑ์การปล่อยมลพิษ ตามมาตรฐาน EURO 5
เครื่องยนต์เบนซิน
- คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) ต้องไม่เกิน 1 กรัม/กม.
- สารไฮโดรคาร์บอน (HC) ต้องไม่เกิน 0.1 กรัม/กม.
- สารไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ต้องไม่เกิน 0.06 กรัม/กม.
- สารมลพิษอนุภาคและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) ต้องไม่เกิน 0.005 กรัม/กม.
เครื่องยนต์ดีเซลคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) ต้องไม่เกิน 0.5 กรัม/กม.
- สารไฮโดรคาร์บอนและ สารไนโตรเจนออกไซด์ (HC+NOx) ต้องไม่เกิน 0.23 กรัม/กม.
- สารไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ต้องไม่เกิน 0.18 กรัม/กม.
- สารมลพิษอนุภาคและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) ต้องไม่เกิน 0.005 กรัม/กม.
ทั้งนี้จากการคาดการณ์เชื่อว่าการยกระดับมาตรฐานเครื่องยนต์ จากยูโร 4 มาเป็นยูโร 5 จะสามารถช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองจากเครื่องยนต์ลงได้ถึง 5 เท่า และลดฝุ่นลงได้ถึง 37,000 ตันต่อปี หรือมากถึง 80% เลยทีเดียว
ขอบคุณข้อมูล :
https://www.tisi.go.th, https://www.thaiauto.or.th/, https://www.thaipbs.or.th/, https://www.scimath.org, https://www.thairath.co.th/, https://www.thansettakij.com/, https://www.pptvhd36.com, https://www.bangkokbiznews.com, https://www.prachachat.net, https://www.aecc.eu/