เคลียร์ทุกข้อสงสัย ตรอ. คืออะไร รถอายุกี่ปีต้องตรวจสภาพ
ทราบกันหรือไม่ว่า กรมการขนส่งทางบก มีข้อบังคับให้รถยนต์ที่มีอายุการใช้งานครบกำหนดเวลา จะต้องเข้ารับการตรวจสภาพความสมบูรณ์ จึงจะสามารถต่อภาษีประจำปีได้ หากฝ่าฝืนก็มีโทษถึงขั้นถูกเพิกถอนใบขับขี่ ปรับเงิน และร้ายแรงถึงจำคุกเลยทีเดียว ดังนั้นผู้ขับขี่จึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษ สำหรับข้อมูลและรายละเอียดทั้งหมด เกี่ยวกับการตรวจสภาพรถยนต์ที่ ตรอ. แล้วตรอ. คืออะไร? รถอายุกี่ปีต้องตรวจสภาพ? วันนี้เราก็ได้รวบรวมมาไว้ให้ทุกคนได้อ่านกันอีกเช่นเคย รับรองว่าเคลียร์ทุกข้อสงสัยอย่างแน่นอน
ตรอ. คืออะไร?
คำว่า ตรอ. ย่อมาจาก “สถานตรวจสภาพรถเอกชน” เป็นสถานที่ตรวจสอบสภาพรถยนต์และจักรยานยนต์ ที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งจากกรมการขนส่งทางบก และดำเนินงานตามมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก มีหน้าที่ให้บริการตรวจสภาพรถยนต์เเละรถจักรยานยนต์ ตามหลักเกณฑ์ที่กรมการขนส่งกำหนด รวมถึงต้องส่งข้อมูลเข้าระบบของกรมการขนส่งทางบก เเละพิมพ์ใบรายงานผลการตรวจสภาพรถให้กับเจ้าของรถ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการต่อทะเบียนหรือชำระภาษีรถ โดยไม่ต้องไปรอตรวจสภาพรถที่กรมการขนส่งทางบก หรือสำนักงานขนส่ง
รถอายุกี่ปีต้องตรวจสภาพ
รถยนต์ที่สามารถเข้ารับการตรวจสภาพรถ ตรอ. ได้แก่รถที่มีอายุการใช้งานครบ 5 ปี และ 7 ปี ตามประเภทรถที่กำหนด นับแต่วันที่จัดทะเบียนครั้งแรก ดังนี้
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
- รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
- รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุใช้งานครบ 5 ปี ขึ้นไป
- รถที่ภาษีขาดเกิน 1 ปี
ต้องนำรถยนต์ไปตรวจสภาพตอนไหน
การตรวจสภาพรถ เจ้าของรถสามารถนำรถไปตรวจสภาพล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน ก่อนถึงวันสิ้นอายุภาษีประจำปี
เอกสารที่ต้องใช้ในการตรวจสภาพรถมีอะไรบ้าง
เอกสารที่เจ้าของรถต้องใช้ประกอบการตรวจสภาพรถ ได้แก่ สมุดคู่มือทะเบียนรถหรือสำเนา กรณีตัวรถใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง จะต้องเตรียมเอกสารรับรองการติดตั้งก๊าซรถยนต์ หรือหนังสือรับรองการตรวจและทดสอบส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ไปด้วย
วิธีนับอายุใช้งานของรถ
การนับอายุการใช้งานของรถ ให้นับอายุทางทะเบียน โดยนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก ถึงวันสิ้นสุดอายุภาษีประจำปี (วันครบกำหนดเสียภาษีประจำปี) โดยสามารถเข้ารับการตรวจสภาพได้ล่วงหน้าไม่เกิน 3 เดือน ก่อนถึงวันครบกำหนดวันเสียภาษีประจำปี หรือวันสุดท้ายของงวดภาษี
ประเภทและขนาดรถยนต์ ที่ ตรอ. ให้บริการตรวจสภาพ
ตามปกติแล้ว ตรอ. แต่ละแห่ง จะต้องตรวจสภาพรถตามชนิด (ยี่ห้อ) ประเภท และ ขนาดรถ ตามที่ยื่นขออนุญาต และได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนกลางไว้ เช่น ตรวจสภาพรถยนต์ ขนาดน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม ทุกยี่ห้อ หรือตรวจสภาพรถจักรยานยนต์ เฉพาะ ยี่ห้อหรือ ตรวจสภาพรถยนต์ขนาดน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม และเกิน 1,600 กิโลกรัม และรถจักรยานยนต์ ทุกยี่ห้อ เป็นต้น
กรณีรับตรวจสภาพรถบางชนิด (ยี่ห้อ) ต้องแสดงป้ายที่เห็นได้ชัดเจน เพื่อให้เจ้าของรถที่จะมาใช้บริการได้ทราบด้วย
รถยนต์ที่ ตรอ. ไม่รับตรวจสภาพ
รถยนต์ที่ถูกดัดแปลงสภาพ ผิดไปจากที่ได้จดทะเบียนไว้ ได้แก่ แผ่นป้ายทะเบียนชำรุด หรือสูญหาย, หมายเลขเครื่องยนต์/ตัวรถ/โครงคัสซี หรือตัวเฟรม มีร่องรอยขูดขีดแก้ไข หรือมีการเปลี่ยนแปลงสีหรือตัวรถ ฯลฯ โดยเจ้าของรถจะต้องนำรถไปตรวจสภาพที่สำนักงานขนส่งเท่านั้น
◾รถที่เปลี่ยนสี หรือเปลี่ยนแปลงตัวรถ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไป จากรายการที่จดทะเบียนไว้ในสมุดคู่มือทะเบียนรถ (เช่น เปลี่ยนเครื่องยนต์ เปลี่ยนลักษณะรถ เปลี่ยน ชนิดน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น)
◾รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลขตัวรถหรือเลขเครื่องยนต์ (เช่น ไม่ปรากฏตัวเลข ตัวเลขชำรุด หรือมีร่องรอยการแก้ไข ขูด ลบ หรือลบเลือน จนไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ เป็นต้น) รถที่เจ้าของได้แจ้งการไม่ใช้ชั่วคราว หรือแจ้งการไม่ใช้รถตลอดไปไว้
- รถเก่าที่มีเลขทะเบียนเป็นเลขทะเบียนรุ่นเก่า ( เช่น กท-00001, กทจ-0001 เป็นต้น) ซึ่งรถดังกล่าวต้องเปลี่ยนทะเบียนรถใหม่เมื่อมีการนำมาเสียภาษีประจำปี
- รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับการถูกโจรกรรมแล้วได้คืน
- รถที่ได้สิ้นอายุภาษีประจำปี (ขาดต่อทะเบียน) เกิน 1 ปี
ตรอ. ตรวจสภาพอะไรบ้าง
📍ตรอ. จะทำการตรวจสภาพรถยนต์ทั้งภายใน ภายนอก และใต้ท้องรถ แยกตามรายละเอียด ดังนี้
การตรวจภายในรถ ได้แก่
- เข็มขัดนิรภัย
- มาตรวัด, ไฟสัญญาณ
- กระจกกันลมหน้า-หลัง
- ที่นั่งผู้ขับ, ที่นั่งผู้โดยสาร
- ระบบบังคับเลี้ยว, พวงมาลัย
- สวิตช์ควบคุมไฟสัญญาณ, แตรสัญญาณ
- อุปกรณ์ปัดเเละฉีดทำความสะอาดกระจกกันลมหน้า
การตรวจภายนอกรถ ได้แก่
- สี
- ประตู
- กระจกด้านข้าง
- กระจกเงาสำหรับมองหลัง
- อุปกรณ์สะท้อนแสง
- บังโคลน
- กันชน
- กันชนท้าย
- กงล้อ และยาง
- โครงสร้างเเละตัวถัง
- โคมไฟเลี้ยว
- โคมไฟท้าย
- โคมไฟหยุด
- โคมไฟถอยหลัง
- โคมไฟหรี่, และอื่นๆ
- โคมไฟส่องป้ายทะเบียน
- โคมไฟพุ่งไกล, โคมไฟพุ่งต่ำ
- โคมไฟแสดงความกว้าง, ความสูง, ไฟอื่น ๆ
การตรวจใต้ท้องรถ ได้แก่
- เพลาล้อ, กงล้อและยาง
- อุปกรณ์ระบบห้ามล้อ
- โครงสร้างตัวถัง, โครงคัสซี
- แท่นเครื่อง, ยางแท่นเครื่อง
- ระบบไอเสีย, เครื่องระงับเสียง
- ระบบบังคับเลี้ยว, กลไลบังคับเลี้ยว
- อุปกรณ์ขจัดมลพิษ (Catalytic Converter)
- ระบบเชื้อเพลิง, ท่อส่งเชื้อเพลิง, ท่อส่งก๊าซ
- ระบบรองรับน้ำหนัก, สปริง, แหนบ, โช้คอัพ
- ระบบส่งกำลัง, คลัตช์, เกียร์ เพลากลาง, เฟืองท้าย
ค่าใช้จ่ายในการตรวจสภาพรถยนต์
- รถจักรยานยนต์ คันละ 60 บาท
- รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 2,000 กิโลกรัม คันละ 200 บาท
- รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 2,000 กิโลกรัม คันละ 300 บาท
◾กรณีตรวจสภาพรถยนต์แล้วผ่านเกณฑ์
หากผลการตรวจสภาพปรากฏว่า รถยนต์อยู่ในเกณฑ์ผ่านการตรวจสภาพ ทาง ตรอ. จะออกใบรับรองการตรวจสภาพรถ ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด เพื่อให้เจ้าของใช้ประกอบการต่อภาษีประจำปี
◾กรณีตรวจสภาพรถยนต์แล้วไม่ผ่านเกณฑ์จะต้องทำอย่างไร
หากพบว่ารถยนต์อยู่ในเกณฑ์ไม่ผ่านการตรวจสภาพ ทาง ตรอ. จะแจ้งข้อบกพร่อง เพื่อให้เจ้าของได้นำรถไปแก้ไขข้อบกพร่อง แล้วนำมาตรวจใหม่อีกครั้ง หากทำการแก้ไขแล้วนำไปตรวจสภาพที่ ตรอ. แห่งเดิมภายใน 15 วัน จะเสียค่าตรวจใหม่ ในอัตราครึ่งหนึ่งของค่าบริการที่กำหนดไว้ แต่หากเกิน 15 วัน หรือไปตรวจที่ ตรอ. แห่งอื่น จะต้องเสียค่าบริการเต็มอัตรา
บทลงโทษไม่ปฏิบัติข้อบังคับของกรมการขนส่งทางบก
- ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาต ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขซึ่งได้ กำหนดในกฏกระทรวง ออกตามความในมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 อาจถูกนายทะเบียนกลางเพิกถอนใบอนุญาตนั้นได้
- ผู้ได้รับใบอนุญาตผู้ใดโดยทุจริต หรือจงใจออกใบรับรองการตรวจสภาพรถไปโดยไม่ตรงตามความเป็นจริง ย่อมมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทและนายทะเบียนกลางมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตั้ง สถานตรวจสภาพรถนั้นเสียได้
- ผู้ใดในการประกอบการงานวิชาชีพใด ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ โดยประการที่ น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชนผู้นั้นอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 269 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อมูลจาก กรมการขนส่งทางบก www.dlt.go.th