Virtual Bank คืออะไร
Virtual Bank หรือ ธนาคารพาณิชย์เสมือนจริงในยุคดิจิทัล ไม่มีสาขา ให้บริการทางผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น แอปพลิเคชันบนมือถือ เว็บไซต์ หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
บริการจะคล้ายกับธนาคารแบบเดิม เช่น การเปิดบัญชีเงินฝาก โอนเงิน จ่ายบิล แต่เน้นไปที่ความสะดวก รวดเร็ว สามารถทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ครบวงจร เต็มรูปแบบ นอกจากนี้อาจจะเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่มอีกด้วย
ธนาคารประเภทนี้จัดตั้งขึ้นมาสักระยะหนึ่งในต่างประเทศ แต่ยังถือว่าเป็นธนาคารประเภทใหม่ที่ไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ และเรียกแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น Digital bank (สิงคโปร์และมาเลเซีย) Internet-only bank (เกาหลีใต้และไต้หวัน) Neobank (สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย) และ Virtual bank (ฮ่องกง)
สำหรับประเทศไทยจะใช้ชื่อ Virtual bank เพื่อไม่ให้สับสนกับคำว่า Mobile banking หรือ Internet banking ซึ่งใช้เรียกช่องทางการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน
จุดเด่นของ Virtual Bank คืออะไร
- สะดวกสบาย และรวดเร็ว สมัครและทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ เว็บไซต์ หรือช่องทางออนไลน์อื่น ๆ โดยไม่ต้องไปธนาคาร
- มีบัญชีเงินฝากแบบไม่มีสมุด สามารถแบ่งบัญชีเป็นบัญชีย่อยได้ตามวัตถุประสงค์ในการฝากเงิน เปิดบัญชีง่าย ผ่านออนไลน์สมาร์ทโฟน
- ระบบการทำงานอัตโนมัติ ทำให้การทำธุรกรรมรวดเร็วทันใจ มี AI ช่วยแนะนำการออม และการใช้จ่ายให้เหมาะกับพฤติกรรมของเจ้าของบัญชี เหมาะกับความต้องการและความเสี่ยงของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งมิติด้านคุณภาพและราคา
- เสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แข่งขันได้ บัญชิเงินฝากได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากทั่วไป และอาจได้รับดอกเบี้ยเป็นรายวัน
- ค่าธรรมเนียมต่ำหรือฟรี ต้นทุนในการดำเนินการต่ำกว่าธนาคารอื่น
- ผลิตภัณฑ์และบริการ ตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ SMEs เชื่อมบัญชีเงินฝากกับระบบทำบัญชีออนไลน์ เป็นต้น
- ผู้ที่ต้องการความสะดวกในการโอนเงินต่างประเทศ บางแห่งรองรับการโอนเงินต่างประเทศหลายสกุลเงิน
- มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการให้บริการตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารประเทศไทยกำหนด เช่น ต้องใช้มาตรฐานการยืนยันตัวตนที่เข้มงวดเท่าเทียมกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
คุณสมบัติของ Virtual Bank คืออะไร
ตามแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank จะต้องมีคุณสมบัติคร่าวๆ ดังนี้
1. คุณสมบัติทั่วไป
- เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย
- มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท
- ผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ ธปท. กำหนด
- ผู้บริหารต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่เหมาะสม
- มีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ
- มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนและมีความเป็นไปได้
- มีระบบและโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่มั่นคงและปลอดภัย
2. คุณสมบัติเฉพาะ
- มีรูปแบบธุรกิจที่ตอบโจทย์เป้าหมาย Green Line ของ ธปท. ดังนี้
- ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ยังเข้าไม่ถึงหรือเข้าถึงได้ไม่เพียงพอ
- พัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
- ยกระดับประสิทธิภาพและความยั่งยืนของระบบการเงิน
- มีธรรมาภิบาลและวัฒนธรรมด้านความเสี่ยงที่ดี
- มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการดิจิทัล
- มีเทคโนโลยีที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว
- สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย
นอกจากคุณสมบัติที่กำหนดไว้ข้างต้นแล้ว Virtual Bank ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ความท้าทายของ Virtual Bank
- การสร้างความเชื่อมั่น ลูกค้ายังคุ้นเคยกับการใช้บริการธนาคารแบบดั้งเดิม
- ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยที่รัดกุม
- การบริการลูกค้า ต้องมีช่องทางการติดต่อลูกค้าที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ
อนาคตของ Virtual Bank
คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในระบบการเงินของไทยมากขึ้น เนื่องจากสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป นิยมใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมจึงต้องปรับตัว พัฒนาระบบบริการให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล
เมื่อไหร่คนไทยจะได้ใช้ Virtual Bank
หลังจากที่เสร็จสิ้นกระบวนการรับฟังความเห็นจากสาธารณชนเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ธปท. จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาใช้จัดทำหลักเกณฑ์การขอจัดตั้ง จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา ภายหลังจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ก็จะเริ่มกระบวนการเปิดรับสมัคร การพิจารณาคัดเลือก และการเตรียมความพร้อมของผู้ได้รับใบอนุญาต โดยคาดว่าจะพร้อมเปิดดำเนินการแก่ประชาชนได้ภายในปี 2568
ขอบคุณข้อมูล : Virtual bank (scb.co.th) , VIRTUAL BANK (bot.or.th)
อ่านคอนเทนต์ต่างๆ เพิ่มเติม : https://www.fordrma.com/lifestyle/